Please use this identifier to cite or link to this item: http://cmuir.cmu.ac.th/jspui/handle/6653943832/65065
Title: แนวคิดมหาปุริสลักขณะ พระพุทธปฏิมา ศิลปะไทลื้อ เมืองน่าน
Other Titles: The Concept of Marks of the Great Man Buddha Image in Tai Lue Art in Nan Province.
Authors: ฉลองเดช คูภานุมาต
Authors: ฉลองเดช คูภานุมาต
Issue Date: 2556
Publisher: คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract: งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาแนวคิดมหาปุริสลักขณะ ซึ่งปรากฏในพระพุทธปฏิมาศิลปะไทลื้อ เมืองน่าน เพื่อวิเคราะห์รูปแบบศิลปกรรมของพระพุทธปฏิมา ทางด้านความหมาย และสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับคติความเชื่อ วัฒนธรรม วิธีคิดของชาวพุทธ ซึ่งยังมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น และสังคมวัฒนธรรมล้านนา ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดมหาปุริสลักขณะ คือ แนวคิดสำคัญที่เป็นปทัฏฐานในการสร้างและการกำหนดรูปแบบของพระพุทธรูป มีการถ่ายทอดผ่านวรรณกรรมทางพุทธศาสนา และพุทธลักษณะของพระพุทธปฏิมา มหาปุริสลักขณะ หมายถึง ลักษณะของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ มีเนื้อหาปรากฏในคัมภีร์โบราณก่อนสมัยพุทธกาล กล่าวถึง บุคคลผู้ประกอบด้วยลักษณะของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ อันเป็นคติของบุคคลเพียง 2 ประเภทคือ พระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ทรงธรรมประการหนึ่ง และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สิ้นอาสวะกิเลสแล้วประการหนึ่ง สาเหตุของการได้ลักษณะมหาบุรุษเกิดจากการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาติปางก่อน ด้วยอานิสงส์แห่งการสร้างกุศลกรรมจนถึงพร้อม ส่งผลให้ได้รับลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการและองค์ประกอบย่อยเรียกว่า อนุพยัญชนะ 80 ประการ ซึ่งเป็นกระบวนการของเหตุและผลสืบเนื่องตามลำดับ เป็นการแสดงธรรมเรื่องกุศลกรรมส่งให้เกิดกุศลวิบาก โดยมีมหาปุริสลักขณะเป็นสักขีพยานทางกายภาพ จากการวิเคราะห์องค์ประกอบของมหาปุริสลักขณะและอนุพยัญชนะซึ่งมีปรากฏในองค์พระพุทธปฏิมาศิลปะไทลื้อ เมืองน่าน พบว่าลักษณะจากแนวคิดมหาบุรุษที่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกพระวรกายเท่านั้น ที่มีปรากฏในส่วนประกอบของรูปทรงพระพุทธปฏิมา โดยสามารถจำแนกออกได้เป็นมหาปุริสลักขณะ 16 ประการ และอนุพยัญชนะ 36 ประการส่วนลักษณะบางประการที่ไม่ปรากฏในองค์พระพุทธปฏิมา เนื่องมาจากไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และมีข้อจำกัดในการแสดงออกด้วยรูปแบบงานประติมากรรม อาทิ กลิ่น เสียง และการเคลื่อนไหวในอิริยาบถต่างๆ ตลอดจนลักษณะอันเป็นนามธรรม ไม่สามารถถ่ายทอดแนวคิดผ่านรูปทรงพระพุทธรูปที่เป็นวัตถุได้ นอกจากนี้ การวิเคราะห์รูปแบบศิลปกรรมของพระพุทธปฏิมา ศิลปะไทลื้อ เมืองน่าน พบว่า รูปแบบ กรรมวิธี และวัสดุที่ใช้ในการสร้างพระพุทธรูปทุกองค์ สามารถแสดงออกได้แตกต่างกันตามความรู้และจินตนาการของปฏิมากรผู้สร้างสรรค์ในแต่ละชุมชน รวมทั้งได้ปรับปรุงรูปแบบที่ได้รับมาให้สอดคล้องกับสุนทรียภาพของตนเอง และพัฒนาจนเกิดลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นได้ในที่สุด มีลักษณะเป็นงานศิลปะพื้นถิ่น โดยถ่ายทอดจินตนาการด้วยรูปทรงที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และเป็นธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นถึงความงาม สุนทรียภาพ และภูมิปัญญาของชาวพุทธ อันมีบ่อเกิดมาจากจิตใจที่เปี่ยมล้นด้วยความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ตลอดจนแสดงถึงคุณค่าและความสำคัญ ในฐานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
Description: วารสารวิจิตรศิลป์ ตีพิมพ์บทความวิจัยหรือบทความงานสร้างสรรค์ทางด้านศิลปกรรม และบทความวิชาการทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ เป็นบทความที่เสนอองค์ความรู้ แนวคิด วิธีการ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาต่างๆ ทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ (การวิจัยงานศิลปะ การออกแบบ ประยุกต์ศิลป์ ดนตรี การแสดง สื่อศิลปะ ปรัชญาศิลป์ สุนทรียศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดี)
URI: https://www.tci-thaijo.org/index.php/fineartsJournal/article/view/77633/62266
http://cmuir.cmu.ac.th/jspui/handle/6653943832/65065
ISSN: 1906-0572
Appears in Collections:CMUL: Journal Articles

Files in This Item:
There are no files associated with this item.


Items in CMUIR are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.