Please use this identifier to cite or link to this item: http://cmuir.cmu.ac.th/jspui/handle/6653943832/80296
Title: ความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชและภาวะซึมเศร้าของวัยรุ่นในครอบครัวเกษตรกร อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
Other Titles: Association Between Pesticide Exposure and Depression Among Adolescents in Agricultural Family, Chiang Dao District, Chiang Mai Province
Authors: ไชยวงค์, คัมภีร์
Authors: ไชยวงค์, คัมภีร์
Keywords: สารกำจัดศัตรูพืช;ภาวะซึมเศร้า;วัยรุ่น;เกษตรกรรม
Issue Date: 5-Apr-2024
Abstract: การสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชนับเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องให้ความตระหนักเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงในเด็กวัยรุ่นที่ปฏิบัติงานและอาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะการปฏิบัติงานในพื้นที่เกษตรกรรมและระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือด รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชและภาวะซึมเศร้าของวัยรุ่นในครอบครัวเกษตรกร การวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่างเป็นวัยรุ่นจากครอบครัวเกษตรกร อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 336 คน ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 โดยใช้แบบสอบถามข้อมูลประวัติการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช แบบประเมินภาวะซึมเศร้าสำหรับวัยรุ่น (PHQ-A) รวมทั้งการเจาะเลือดปลายนิ้วเพื่อคัดกรองความเสี่ยงการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชด้วยชุดกระดาษทดสอบโคลีนเอสเตอเรส วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก โดยนำเสนอค่า Odds ratio (OR) ร่วมกับช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (95%CI) ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นมีเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย ร้อยละ 51.2 และมีภาวะซึมเศร้า (คะแนน PHQ ≥ 5) ร้อยละ 67.9 โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย ร้อยละ 39.0 ลักษณะการปฏิบัติงานในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความสัมพันธ์กับระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดของวัยรุ่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การผสมหรือการฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช (OR = 10.54; 95% CI: 4.63 – 23.99) การทำงานหรืออยู่ในบริเวณพื้นที่ที่กำลังมีการฉีดพ่นหรือใช้สารกำจัดศัตรูพืช (OR = 5.54; 95% CI: 3.45 – 8.89) และการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีการฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช (OR = 3.70; 95% CI: 2.35 – 5.82) นอกจากนี้ ระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดที่ผิดปกติ (OR = 1.81; 95% CI: 1.12 – 2.93) มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของวัยรุ่น เมื่อควบคุมอิทธิพลของตัวแปรเพศ รวมทั้งการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชที่ประเมินจากการสอบถามประวัติอาการแพ้หรือได้รับพิษเฉียบพลันจากการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช (OR = 3.55; 95% CI: 1.04 – 12.18) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับภาวะซึมเศร้าของวัยรุ่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปได้ว่า วัยรุ่นในครอบครัวเกษตรกรมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชจากการปฏิบัติงานในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้และการให้ความรู้ด้านสาธารณสุขสำหรับวัยรุ่นในครอบครัวเกษตรกร ครอบครัว และชุมชนเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชให้น้อยที่สุด
URI: http://cmuir.cmu.ac.th/jspui/handle/6653943832/80296
Appears in Collections:PH: Independent Study (IS)

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
642232002-KHAMPEE CHAIWONG.pdf642232002-KHAMPEE CHAIWONG1.44 MBAdobe PDFView/Open


Items in CMUIR are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.